ความคิดเห็น เรื่องราว รู้จักยูรีพอร์ต ยูรีพอร์ตเตอร์ รายงาน สมัคร
ร่วมทีม U-Report เสียงของคุณมีความหมาย
เรื่องราว
ชักชวนเยาวชนร่วมพลิกวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ทางรอดโลกอนาคต

ยูนิเซฟและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ชักชวนเยาวชนเข้าร่วมเวิร์คช็อปต่อสู้กับปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ  พร้อมเปิดตัวผลการศึกษาระดับประเทศของยูนิเซฟที่ศึกษาเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเด็กในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

ในขณะที่หลายฝ่ายกำลังหาทางบรรเทาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ  ผลการวิจัยระดับโลกครั้งล่าสุดขององค์การยูนิเซฟ พบว่า เด็กไทยอายุต่ำกว่า 18 ปี กว่าร้อยละ 75 หรือประมาณ 10.3 ล้านคน จะได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผลการศึกษาพบว่า หากไม่มีการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน ภายในปี 2593 เด็กแทบทุกคนในประเทศจะประสบกับคลื่นความร้อนบ่อยขึ้น และนานขึ้น ในขณะที่ผลการศึกษาของยูนิเซฟทั่วโลกที่ทำขึ้นเมื่อปี 2564 ยังยืนยันด้วยว่า เด็กในประเทศไทยมี ‘ความเสี่ยงสูง’ ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 50 ประเทศที่เด็กตกอยู่ในความเสี่ยงมากที่สุด ซึ่งผลการศึกษาระดับประเทศครั้งใหม่ของยูนิเซฟจะช่วยเผยให้เห็นสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อเด็กในทุกจังหวัดทั่วประเทศ

เด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ต้องกลายเป็นผู้รับมือกับสภาพอากาศรุนแรง เช่น น้ำท่วม ไต้ฝุ่น ภัยแล้ง คลื่นความร้อน และคลื่นพายุจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต ทำให้ยูนิเซฟ และยูเอ็นดีพี เล็งเห็นว่า ถึงเวลาที่ต้องเริ่มหาแนวทางแก้ปัญหาตั้งแต่วันนี้โดยให้เยาวชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลังในการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอนาคตของพวกเขาเอง เพราะพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แพรวา ไชยวุฒิ อายุ 23 ปี และ รัญชิดา รจนากิจ อายุ 18 ปี สองสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชน (YPAB) ของยูนิเซฟ อาศัยไกลจากกรุงเทพหลายร้อยกิโลเมตร แต่กำลังเข้าร่วมการหารือเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ในเวิร์คช็อปแบบไฮบริดที่มีผู้เข้าร่วมทั้งแบบออนไลน์ ควบคู่ไปกับระดมความคิดจากสมาชิกที่เข้าร่วมเวิร์คช็อปในกรุงเทพ ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยตัวแทนเยาวชนจากทั่วประเทศไทย ตัวแทนจากยูนิเซฟ ยูเอ็นดีพี และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงตัวแทนจากสถานฑูตเคนยา ด้วยทั้งหมดนี้ทำขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและรับฟังความคิดเห็นจากเยาวชน


“ยูเอ็นดีพีได้มีส่วนร่วมและจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเพิ่มขีดความสามารถของเยาวชน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการพุ่งเป้าการทำงานไปยังผู้ที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต” วิจายา ซิงห์ ทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ประจำประเทศไทยยูเอ็นดีพีในขณะนั้น กล่าวในเวิร์คช็อป

เวิร์คช็อปนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดการประชุมเชิงปฏิบัติการของยูเอ็นดีพีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังเป็นครั้งแรกที่ยูนิเซฟเปิดเผยผลการศึกษา “การประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อเด็กในประเทศไทย” ซึ่งยูนิเซฟทำงานอย่างใกล้ชิดกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อความเป็นอยู่และอนาคตของเด็กอย่างไร

“เด็ก ๆ จะเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนานที่สุด ดังนั้นพวกเขาจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบของมัน อีกประเด็นหนึ่งก็คือ เราในฐานะผู้ใหญ่ จำเป็นต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อผู้คนไม่เท่ากัน ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องระบุว่ากลุ่มใดจะได้รับผลกระทบมากที่สุด และหามาตรการที่เหมาะสมในการรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น” ภาวิญญ์ เถลิงศรี ที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าว


รายงานพบว่าเด็กใน 10 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงสุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2578 ได้แก่ อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช นราธิวาส สุรินทร์ สงขลา บุรีรัมย์ ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ โดยที่ผ่านมา มีสัญญาณเตือนภัยน้ำท่วมเพิ่มขึ้นในฤดูฝน และภัยแล้งรุนแรงในฤดูแล้ง โดยภาวิญญ์ยังชี้อีกด้วยว่า จังหวัดในภาคใต้ตอนล่างเองก็กำลังเผชิญกับความท้าทายอื่น ๆ นอกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่น ความขัดแย้งในพื้นที่ ในขณะที่จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้

“ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ครอบครัวของเด็กในชนบทที่มีรายได้น้อย สภาพที่อยู่อาศัยไม่สมบูรณ์ ไม่มีทรัพย์สิน ไม่มีน้ำดื่มที่สะอาด และไม่มีบัญชีเงินฝากในธนาคาร มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด เนื่องจากการช่วยเหลือฉุกเฉินส่วนใหญ่มาทางบัญชีธนาคารที่สามารถโอนเงินช่วยเหลือเข้าได้สะดวก” ภาวิญญ์กล่าว


แพรวา หนึ่งในสมาชิก YPAB และนักศึกษาเทคโนโลยีชีวภาพจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในผู้ต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ จากการที่เชียงใหม่ประสบกับปัญหาไฟป่าและฝุ่นละออง PM 2.5 โดยเธอระบุว่า หนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ คือ การสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศในระบบการศึกษามากขึ้น เพื่อช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การให้ความรู้ด้านการคัดแยกขยะเพื่อลดขยะพลาสติกขนาดเล็ก ซึ่งอาจปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่เราบริโภคเข้าไป


แพรวา หนึ่งในสมาชิก YPAB และนักศึกษาเทคโนโลยีชีวภาพจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในผู้ต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ จากการที่เชียงใหม่ประสบกับปัญหาไฟป่าและฝุ่นละออง PM 2.5 โดยเธอระบุว่า หนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ คือ การสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศในระบบการศึกษามากขึ้น เพื่อช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การให้ความรู้ด้านการคัดแยกขยะเพื่อลดขยะพลาสติกขนาดเล็ก ซึ่งอาจปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่เราบริโภคเข้าไป

นานามิ โอโนเดระ สมาชิก YPAB จากกรุงเทพฯ ที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตในโรงเรียนกล่าวว่า ตอนนี้เธอเห็นความเป็นไปได้มากขึ้นในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านโครงการของโรงเรียน โดยเห็นว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ   อาจส่งผลให้ปัญหาสุขภาพจิตในครอบครัวแย่ลง เพราะการเกิดอุทกภัยอาจส่งผลต่อการศึกษาของเด็กและรายได้ของครอบครัว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเครียดในครอบครัวและสร้างปัญหาสังคมไปอีกต่อหนึ่ง

ในขณะที่ผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อปอย่าง อนุชา มากเจริญ นักศึกษาสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ และประธานสภาเด็กเเละเยาวชนเขตปทุมวัน ชี้ให้เห็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ  นั่นคือการที่เยาวชนไม่รู้จะไปเริ่มต้นจากตรงไหน

“เยาวชนไม่ค่อยได้รับโอกาศในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานต่อสู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ   เพราะผู้ใหญ่ไม่เห็นความสำคัญว่าเยาวชนสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ซึ่งแท้จริงแล้ว หากต้องมีการดำเนินการ 10 ขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็ควรให้เยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ก้าวแรก” อนุชากล่าว


ด้านภาวิญญ์ยังเสริมด้วยว่า ในขณะนี้หน่วยงานที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเด็ก ยังคงพุ่งเป้าแก้ปัญหาในส่วนของตัวเอง โดยมีการทำงานแบบบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาทั้งสองด้านพร้อมกันเพียงเล็กน้อย

“ทุกวันนี้ ผู้คนมองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องไกลตัว หรือเฉพาะกลุ่มเกินไปจนไม่ให้ความสนใจ แต่เรายังมีโอกาสชี้ช่องโหว่ด้านนโยบายและมาตรการเชิงปฏิบัติ ตลอดจนแนวทางในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเราไม่ได้มองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลเท่านั้น แต่เราทุกคนต้องร่วมมือแก้ไขปัญหาโลกร้อนไปด้วยกัน” ภาวิญญ์กล่าวทิ้งท้าย

ดูจากตัวเลขว่ายูรีพอร์ตส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่อย่างไร
เรียนรู้เพิ่มเติม
UNICEF logo