เขียนโดย: อติรุจ ดือเระ
ภาพโดย: ณัฐณิชา สิริจริยาพร
นั่งรอรถเมล์อากาศร้อนจนเหงื่อไหล อยากไปวิ่งออกกำลังกายยามเย็นริมคลองแต่น้ำในคลองสุดจะเหม็นเน่า ออกนอกบ้านทีไรเป็นตกพกหน้ากากอนามัยปิดปากไปด้วยทุกครั้ง ไหนจะฝุ่นPM 2.5 ไหนจะควันจากท่อไอเสียรถ นี่เหรอชีวิตดีๆที่ลงตัวของคนปี 2019 เคยตั้งคำถามกันไหมครับว่าสภาพแวดล้อมแย่ๆเหล่านี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และเกิดขึ้นได้อย่างไร
คอลัมน์ครั้งนี้จะพาเพื่อนๆไปฟังเสียงจากเยาวชนที่ทำงานจิตอาสาด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจะมาร่วมตั้งคำถาม ถ่ายทอดประสบการณ์และส่งต่อแรงบันดาลใจให้เพื่อนๆได้เห็นความสำคัญเรื่องรักษ์ๆธรรมชาติเพิ่มขึ้น เยาวชนที่มาร่วมพูดคุยกับเราประกอบด้วย เอ็ม-นายปฐวี กาญจนีย์ นักศึกษาชั้นปีที่ ๓ , ตุ๊กติ๊ก-นางสาวศิริลักษณ์ แสวงผล นักศึกษาชั้นปีที่ ๓ และ วาว-นางสาวลลิตา พืชพิสุทธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ ๒
ในฐานะเยาวชนคิดเห็นอย่างไรต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ?
เอ็ม: “ปัญหาสิ่งแวดล้อมเดินทางมาไกลจากที่เป็นอยู่ในอดีต ทุกวันนี้มนุษย์รับทราบครับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างไร แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำคือการเพิกเฉย ไม่ร่วมมือกันแก้ไข หรือแก้ไขแต่ก็ไม่จริงใจ แค่เพียงแก้เฉพาะหน้าให้ผ่านไป สังเกตได้จากสื่อออนไลน์ที่หลายคนแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม พวกเขาแค่แชร์แต่ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่านั้น”
ตุ๊กติ๊ก: “ปัญหาที่พบคือมีบางคนเข้าใจบางอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติผิดพลาดไป ยกตัวอย่างเช่น การทำฝายชะลอน้ำ ไม่ได้ส่งผลดีต่อธรรมชาติเลยค่ะ เพราะจะทำลายระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตชนิดขนาดเล็ก”
คิดว่าการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของใครครับ ?
เอ็ม: “ถ้าเป็นเมื่อก่อนสิ่งแวดล้อมสามารถดูแลตัวเองได้ครับ ด้วยวัฏจักรชีวิตและระบบนิเวศ แต่ปัจจุบันการที่มนุษย์ไปทำลายสิ่งแวดล้อมทำให้เขาไม่สามารถเยียวยารักษาตัวเองได้อีกแล้ว จึงคิดว่าเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน ตั้งแต่ระดับตนเองและระดับองค์กร คือองค์กรต่างๆควรคำนึงและแสดงความรับผิดชอบต่อการทำลายสิ่งแวดล้อม จริงๆก็มีองค์กรที่ตื่นตัวด้านนี้แต่นั่นแหละมันต้องแลกมาด้วยต้นทุนทางสังคมที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาคือสินค้าของเขาก็ต้องเพิ่มราคาขึ้น”
วาว: “นโยบายภาครัฐควรส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิเช่น การควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนของบริษัทและโรงงานต่างๆโดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มักได้รับสิทธิพิเศษให้ปล่อยคาร์บอนในระดับที่เกินไป”
ตุ๊กติ๊ก “ทุกอาชีพทุกสาขาต้องมีส่วนร่วม ไม่อยากให้มองว่าเป็นหน้าที่ของใครแต่อยากให้ซึมซับเป็นลักษณะนิสัยที่ทุกคนควรมีติดตัว ทรัพยากรมีวันหมดจะทำอย่างไรให้ใช้อย่างยั่งยืน”
เยาวชนสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง ?
วาว: “ง่ายๆ คือเริ่มที่ตัวเอง ยกตัวอย่างเช่นไปซื้อของในร้านสะดวกซื้อแค่เปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติกก็สามารถช่วยแก้ปัญหาได้แล้วในระดับหนึ่ง”
ตุ๊กติ๊ก:“จริงๆนักศึกษาสามารถช่วยป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการทำกิจกรรม เช่นเมื่อทำค่ายตั้งเป้าหมายให้ชัดว่าจะลดใช้พลาสติกเท่าไหร่ เช่นนี้ก็ช่วยแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง” เธอยังกล่าวถึงประเด็นเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) อีกว่า “การรวมกลุ่มระหว่างชุมนุมรักษ์สิ่งแวดล้อมในแต่มหาวิทยาลัยและกลุ่มNGO ต่างๆ เพื่อเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เช่นการรณรงค์ผ่านสื่อออนไลน์ก็เป็นวิธีที่ค่อนข้างได้ผล”
เอ็ม: “เมื่อไหร่ที่มีการรวมตัวกัน โดยเฉพาะเยาวชน พลังทางสังคมจะเพิ่มขึ้น และสามารถกระตุ้นภาครัฐให้เล็งเห็นความสำคัญเพื่อจะได้ออกนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสิ่งแวดล้อมตามมา”
อยากฝากอะไรถึงเยาวชนทั่วประเทศบ้าง ?
เอ็ม: “อยากให้เพื่อนๆเยาวชนก้าวผ่านการตระหนักรู้ตัวเอง โดยเฉพาะปัญหาเล็กๆ เช่นการลดใช้ถุงพลาสติก เพื่อเราจะได้ก้าวไปทำสิ่งที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมได้มากยิ่งขึ้น”
ตุ๊กติ๊ก: “ฝากถึงเยาวชนได้เรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาดมาในอดีต ถอดอดีตมาเป็นบทเรียนว่าเราจะปกป้องสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร”
วาว: “อยากฝากถึงทุกคนให้ใช้วิถีอนุรักษ์ในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น จะก้าว จะกิน จะดื่มก็อยากให้คิดถึงสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น”
อ่านบทสัมภาษณ์จากเพื่อนๆชุมนุมอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมไปเเล้ว พอจะทราบกันหรือยังครับว่าอากาศที่อุณหภูมิสูงปรี๊ดขึ้นทุกวัน น้ำที่เน่าเสียในคลอง หรือฝุ่นและควันที่ปกคลุมท้องฟ้าของเรา ใครเป็นคนทำใครเป็นก่อ อย่ารอให้ถึงวันที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหลายวิกฤตไปมากกว่านี้เลยครับ เปลี่ยนจากผู้ทำลายมาเป็นผู้สร้าง เริ่มจากตัวเองเพื่อเป็นแบบอย่างแก่คนอื่นๆในสังคม “พลังเยาวชนเปลี่ยนโลก”