ความคิดเห็น เรื่องราว เกี่ยวกับ การมีส่วนร่วม รายงาน สมัครวันนี้
ร่วมทีม U-Report เสียงของคุณมีความหมาย
เรื่องราว
ศาสนาและการอยู่ร่วมกัน: ประสบการณ์จากสามจังหวัดชายแดนใต้

เขียนและถ่ายภาพโดย: อติรุจ  ดือเระ


ศาสนาและการอยู่ร่วมกัน:ประสบการณ์จากสามจังหวัดชายแดนใต้


ช่องว่างระหว่างศาสนาลดลงกลายเป็นศูนย์

ไอซ์ :  สมัยเรียนประถมเราก็เคยรู้สึกแปลกแยกจากคนไทยพุทธ และไม่ค่อยชอบเขาน่ะ  เขาต่างจากเรา เราจะเป็นเพื่อนกับเขาไม่ได้  เหมือนไปซื้อของกับเเม่ที่ตลาดหรือร้านค้า ตอนนั้นจำได้ว่าเรารู้สึกไม่อยากพูดคุยหรือส่งยิ้มให้เขาเลย แต่เมื่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเราเข้าศึกษาที่โรงเรียนคณะราษฎร์เรื่อยมาจนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อนในห้อง 90% นับถือศาสนาพุทธ  เริ่มเเรกเรากลัวมากว่าจะเข้ากับเพื่อนไม่ได้ จะไม่มีใครคบ  เเต่เเล้วมุมมองของเราก็เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือเรารู้จักและสนิทกับเพื่อนไทยพุทธมากขึ้นผ่านกิจกรรมด้วยกันทั้งในเเละนอกห้องเรียน  ตัวอย่างเช่นเมื่อถึงเทศกาลวันกวนอาชูรอ (การกวนขนมของชาวมุสลิม) ในช่วงต้นปีใหม่ตามปฏิทินฮิจเราะห์ศักราช  เพื่อนๆไทยพุทธก็มาร่วมกวนเเละรับประทานกับเราน่ะ สิ่งใดร่วมกันได้เราก็ร่วม ส่วนใดมีขอบเขตเราก็ไม่ล่วงล้ำกัน  อีกประการที่เราสัมผัสได้คือเพื่อนต่างศาสนาจะให้เกียรติในประเด็นความต่างมากๆ  ขณะนั่งโต๊ะอาหารด้วยกันไม่เคยมีใครล้อเรื่องกินหมูกับเราเลย เพื่อนๆกลับไม่สั่งมากินด้วยซ้ำ เขาบอกไม่อยากให้เราไม่สบายใจ  ขณะที่ละหมาดหลายครั้งก็มีเพื่อนต่างศาสนิกไปนั่งรอ  ประสบการณ์เเละการได้ใช้ชีวิตร่วมกันจริงๆทำให้อคติที่เราเคยมีค่อยๆเลือนหายไป  ช่องว่างระหว่างศาสนาลดลงกลายเป็นศูนย์  และไม่เคยมีใครพูดถึงมันอีกเลย  เราพูดกันเรื่องความรัก  ความสุข  ที่เที่ยวและเรื่องอื่นๆโดยไม่แบ่งแยกศาสนา

อย่างไรก็ตามยังมีคนในพื้นที่อีกไม่น้อยที่ไม่ได้สัมผัสเรื่องราวเหมือนกับเรายังคงมีอคติต่อกันอยู่  ยิ่งเมื่อเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น  เเละมีการใช้ศาสนามาเเอบอ้าง เช่นฝั่งมุสลิมทำ หรือฝั่งไทยพุทธ ความขัดเเย้งก็เหมือนจะคุกกรุ่นอยู่บ้าง เเม้ไม่มากก็ตาม

 

กีตาร์ :  ในพื้นที่ๆเราเติบโตมาการแบ่งแยกทางศาสนาไม่เคยมี  อย่างเวลามีงานประเพณีหรือเทศกาลต่างๆ เช่น วันฮารีรายอของชาวมุสลิม ผู้อาวุโสเขาจะแจกเงินหรือขนมแก่เด็กๆมุสลิม

เราเป็นไทยพุทธเเต่ก็ได้รับตลอดน่ะ  เหมือนเขามองเราว่าเป็นลูกหลานคนหนึ่งเช่นกัน วันนั้นบ้านของชาวมุสลิมยังทำขนมหลากหลายนิดเพื่อต้อนรับเเขกที่มาเยือน  เช่น ข้าวต้มมัด หรือบุหงาปูดะ ซึ่งครอบครัวของเรามักจะได้รับการเชื้อเชิญให้เป็นเเขกไปรับประทานขนมอร่อยเหมือนกับชาวมุสลิมคนอื่นๆ  ส่วนเรื่องพิธีกรรมเช่นเสียงอาซานจากลำโพงมัสยิด  หรือเสียงระฆังจากวัดก็ไม่มีใครนำมาเป็นประเด็นสร้างปมขัดเเย้ง  เหมือนทุกคนในชุมชนจะรับได้  อาจเพราะเปิดใจรับหรือความเคยชินเเล้วเเต่คนไป  ส่วนร้านค้าที่เจ้าของเป็นชาวพุทธก็จะมีคนอิสลามไปช่วยอุดหนุนตามปกติ ตราบใดที่สินค้านั้นไม่ได้ขัดต่อหลักศาสนา ตลาดเเถวบ้านเช่นตลาดนัดดุสน นี่เรียกว่าตลาดพหุวัฒนธรรมได้เลย มีคนหลายศาสนามาขายเเละซื้อสินค้าร่วมกัน  นอกจากชาวไทยมุสลิมเเล้ว ยังมีชาวจีนอีกน่ะที่เอาศัยร่วมกับเราในชุมชน ซึ่งเเน่นอนว่าวิถี คติความเชื่อก็ต่างไปจากเรา  เเต่เมื่อถึงวันตรุษจีน มีการเเจกอังเป๋า เราก็ได้รับเหมือนกัน  เขาให้เพราะความรัก เพราะเห็นเรามาเเต่เล็กๆ

 

 

ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี

 

ไอซ์ :  โดยส่วนตัวไม่ชอบการเหยียดศาสนา และไม่เคยเอาประเด็นศาสนามาล้อเล่น  ใส่ร้ายหรือลบหลู่คนที่ต่างจากเรา  ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งในพื้นที่สามจังหวัดเองหรือพื้นที่อื่นๆบนโลก  ก็ไม่อยากให้โยงเกี่ยวกับศาสนา  อยากให้ประณามตัวบุคคลมากกว่า เพราะศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี  แต่อยู่ที่ว่าใครจะทำตามมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง

กีตาร์ :  การเหยียดศาสนาเป็นสิ่งที่เลวร้าย ละเมิดสิทธิเสรีภาพและไม่เคารพความแตกต่างประเภทหนึ่ง  ส่วนตัวไม่เคยคิดว่าศาสนาผิด  ตัวบุคคลต่างหากที่แอบอ้างประเด็นศาสนามาเป็นข้ออ้างในการก่อความไม่สงบหรือสร้างความแตกแยก  ซึ่งหากเราอินไปกับการเหยียดศาสนาหรือกล่าวร้ายกัน  เราก็จะเป็นคนที่สนับสนุนให้เกิดความแตกแยกในสังคมไปโดยอัตโนมัติ

 

เปิดใจและยอมรับ

 

ไอซ์ :  การเปิดใจและยอมรับเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คนต่างศาสนิกอยู่ร่วมกันได้  โดยต้องยอมรับในตัวตน  ความเชื่อ  และให้เกียรติคนที่เชื่อต่างไปจากเรา   ไม่นำประเด็นศาสนามาเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างกัน   ทั้งยังควรแบ่งปันช่วยเหลือกันน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า

 

กีตาร์ :  ความเข้าใจกัน และลดความคลั่งศาสนาให้น้อยลง  โดยเข้าใจในทุกๆสิ่งที่คนอื่นๆทำ  เช่น  เข้าใจว่าชาวมุสลิมต้องอาซานวันละห้าเวลา  ชาวจีนต้องกินเจ  หรือชาวพุทธจัดงานวัด  ความเข้าใจจะช่วยให้อคติหายไป  อย่างไรก็ตามเราก็ต้องเรียนรู้ศาสนาอื่นเป็นอันดับแรกจึงจะเข้าใจอย่างแท้จริง

 

 

ความแตกต่างทางศาสนามีอยู่เกือบทุกที่บนโลก   เปรียบเสมือนดอกไม้หลากสีที่ต่างเบ่งบานและงดงามในตัวมันเอง  ยุคสมัยปัจจุบันซึ่งวัฒนธรรม  ความเชื่อ  และคลื่นผู้คนไหลบ่าอย่างไม่มีเขตกั้น  หากมองความแตกต่างทางศาสนาเป็นปัญหา  เราคงอาศัยร่วมกับผู้คนที่หลากหลายได้อย่างลำบากใจ  แต่หากเปลี่ยนมุมมองว่าความแตกต่างเป็นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้ เราก็คงอาศัยร่วมกับทุกความแตกต่างได้อย่างไม่น่ากังวลนัก  เสมือนมุมมองของไอซ์เละกีตาร์ที่มีต่อสังคมของตนเอง

ดูจากตัวเลขว่าเราร่วมผลักดันเสียงเด็กและเยาวชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเชิงบวกอย่างไร
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม